• 3850 ถนนพระราม 4 คลองเตย กรุงเทพ
  • ตลอด 24 ชั่วโมง
  • 02-348-7000

Do and Don’t – อาหารสำหรับเบาหวานขณะตั้งครรภ์



 

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes mellitus, GDM) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายของคุณแม่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดที่อาจเป็นอันตรายต่อทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะทารกตัวโตและคลอดไหล่ติด รวมถึงภาวะทารกน้ำตาลในเลือดต่ำหลังคลอด อย่างไรก็ตาม การกินอาหารที่เหมาะสมและการควบคุมน้ำหนักตัว ถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ แต่หากมันเกิดขึ้นมาแล้ว การใช้โภชนบำบัดก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดครรภ์คุณภาพได้เช่นกัน

การติดตามระดับน้ำตาลในเลือดควบคู่ไปกับปริมาณและชนิดของคาร์โบไฮเดรตที่กินในแต่ละมื้อ จะช่วยให้สามารถจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น โดยทั่วไปจะแนะนำให้คุณแม่แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อหลัก 3 มื้อ แทรกด้วยมื้อว่างเล็กๆ อีก 2-3 มื้อ 

กินคาร์โบไฮเดรตในแต่ละมื้อในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ยกเว้นในมื้อเช้า เนื่องด้วยสาเหตุจากฮอร์โมนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของหญิงตั้งครรภ์มักขึ้นสูงในมื้อนี้ คุณแม่จึงควรลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตหรือข้าวแป้งให้น้อยลงกว่ามื้ออื่นๆ โดยอาจแทนที่ด้วยการกินโปรตีนเพิ่มขึ้น

เรามาดูกันค่ะว่า อาหารที่ควรกินและควรหลีกเลี่ยงมีอะไรบ้าง

Do: กลุ่มอาหารที่ควรกิน/เลือกกินให้บ่อยขึ้น

คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (complex carbs) :
เลือกกินข้าวแป้งที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ถั่ว ผักและ
ผลไม้ชนิดต่างๆ การกินผักผลไม้หลากหลายสีก็จะช่วยให้ได้รับวิตามินที่หลากหลาย แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องปริมาณ
ผลไม้ด้วยนะคะ เพราะหากกินในปริมาณมากเกินไปนอกจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมาก ก็จะทำให้ควบคุมระดับน้ำตาล 
ในเลือดยากขึ้นด้วย

อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (low glycemic index): อาหารกลุ่มนี้จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาล
ในเลือดได้ดี ซึ่งมักเป็นกลุ่มอาหารที่มีกากใยอาหารสูง (high dietary fiber) ได้แก่ ถั่วชนิดต่างๆ ผลไม้บางชนิดเช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ส้ม และผักใบต่างๆ 

โปรตีนที่มีไขมันต่ำ (lean protein): การกินโปรตีนให้เพียงพอจะช่วยให้สมดุลของสารอาหารมีมากขึ้น ควบคุม
ระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น โปรตีนที่แนะนำได้แก่ ปลา ไข่ ไก่ เต้าหู้ เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ถั่วเปลือกแข็งและถั่วเมล็ดแห้งรวมถึงนม โดยคุณแม่สามารถเลือกดื่มนมเสริมแคลเซียมและสารอาหารครบถ้วนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ได้

ไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fat): ได้แก่ น้ำมันพืช อาโวคาโด้ ถั่วเปลือกแข็ง เช่น วอลนัท อัลมอนด์ เม็ดมะม่วง  
หิมพานต์ เมล็ดเชีย รวมถึงปลาทะเลที่มีกรดไขมันโอเมก้าสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาจะละเม็ด ปลาสำลี ปลากระพง ปลาอินทรีย์ และปลาทู เป็นต้น


Don’t: กลุ่มอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง/จำกัดปริมาณการกินให้น้อยลง

อาหารที่มีน้ำตาลสูง (sugary foods):
ได้แก่ น้ำหวาน ขนมหวาน ลูกอม ไอศกรีม น้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มต่างๆ 
ที่มีการเติมน้ำตาล

ข้าวแป้งที่ผ่านการขัดสี (refined carbs): ได้แก่ ข้าวขาว ขนมปังขาว รวมไปถึงผักหัวที่มีแป้งมาก เช่น มันฝรั่ง 

อาหารแปรรูป หรืออาหารปรุงรส (processed food and condiments) รวมถึงเครื่องปรุงรสที่มีน้ำตาล ไขมัน
และเกลือซ่อนอยู่ในปริมาณมาก หรือที่เรามักได้ยินกันจนคุ้นหูว่า “ควรหลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม” คอนเซ็ปท์นี้ใช้ได้ดีกับทุกคนค่ะ

ท้ายนี้...สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ เพื่อให้การตั้งครรภ์ของคุณแม่ท้องที่เป็นเบาหวาน ปลอดภัยและมีคุณภาพทั้งสำหรับตัวคุณแม่และลูกน้อย ควรมีการพบแพทย์และทีมอย่างต่อเนื่อง พบนักกำหนดอาหาร (dietitian) หรือผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน (diabetes educator) เพื่อวางแผนการกินในแบบเฉพาะราย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายทั้งในแง่สารอาหารและพลังงาน การควบคุมน้ำหนักตัวและระดับน้ำตาลในเลือด ลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงการพบผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกาย (wellness consultant) เพื่อช่วยวางแผนจัดโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม เหล่านี้จะช่วยป้องกันการเกิดเบาหวานหลังคลอดได้อีกด้วย


โดย: ภนิตา จตุรวิทย์
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ 
ผู้จัดการศูนย์โภชนาการและการกำหนดอาหาร รพ.วิมุต-เทพธารินทร์


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

02-348-7000

Have a question? call us now

@vimut-theptarin

Be friend with us

info@Theptarin.com

Need support? Drop us an email