ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด iCath
โรงพยาบาลเทพธารินทร์ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้ความสำคัญกับการค้นหาความเสี่ยงและเริ่มต้น ทำการรักษาแต่เนิ่นเพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการดูแลและมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EXERCISE STRESS TEST)›
เป็นการตรวจสมรรถภาพหัวใจ โดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยการเดิน/วิ่งบนสายพาน หรือปั่นจักรยาน เพื่อทดสอบว่าเมื่อหัวใจต้องการออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นขณะออกกำลังจนถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว จะเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดหรือไม่ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจแสดงอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยมาก หน้ามืดและมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย
การตรวจวิธีนี้มีความแม่นยำสูงกว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบปกติ เป็นการตรวจที่มีประโยชน์มากในการวินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด
ผู้ที่ควรตรวจ EST
- 1. ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดแต่ยังไม่แสดงอาการผิดปกติ
- 2. ผู้ป่วยที่มีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยง่ายสงสัยโรคหัวใจขาดเลือด
- 3. ตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ
- 4. ตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบพิเศษ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดปกติที่อาจเกิดขณะออกกำลังกาย
- 5. ผู้ที่แพทย์แนะนำให้ตรวจวิธีนี้ เพื่อการวินิจฉัยหรือเพื่อติดตามการรักษา
ประโยชน์ของการทำ EST
- 1. เพื่อทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย
- 2. เพื่อวินิจฉัยแยกโรคว่าอาการเจ็บแน่นหน้าอกเกิดจากโรคหัวใจหรือสาเหตุอื่น
- 3. เพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงแต่ไม่มีอาการ
- 4. เพื่อบอกความรุนแรงของโรคหลอดเลือดหัวใจ
- 5. เพื่อติดตามผลการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ
- 6. ช่วยประเมินภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่อาจเกิดขณะออกกำลังกาย
การเตรียมตัวก่อนมารับการตรวจ
- 1. งดน้ำและอาหาร งดชา งดกาแฟ งดสูบบุหรี่ 2 ชั่วโมงก่อนการทดสอบ ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อใหญ่หรือปริมาณมากก่อนมาทดสอบ
- 2. ก่อนการทดสอบ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยงดยาบางชนิด เช่น ยากลุ่ม Beta-blocker เป็นต้น
- 3. สวมใส่ชุดที่รู้สึกสบายและสวมรองเท้าสำหรับวิ่ง
ขั้นตอนการตรวจ
- 1. แพทย์จะทำการตรวจประเมินและแนะนำเบื้องต้นก่อนการทดสอบ
- 2. เจ้าหน้าที่จะติดเครื่องวัดความดันโลหิตและชีพจรแบบอัตโนมัติ ติดสายตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจบริเวณหน้าอกให้ผู้ป่วย
- 3. บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อนการทดสอบทั้งท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน และบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายจนเสร็จสิ้นการทดสอบตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ จะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที โดยแบ่งเป็นช่วงออกกำลังกายประมาณ 6-12 นาทีแล้วแต่สมรรถภาพของผู้ป่วย และช่วงเวลาพักประมาณ 3-10 นาที
- 4. ในขณะทำการทดสอบ จะตรวจวัดความดันโลหิตและชีพจรแบบอัตโนมัติ แพทย์จะติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากหน้าจอเครื่องทดสอบ และจะสอบถามอาการผู้ป่วยเป็นระยะๆ
- 5. ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ รู้สึกอึดอัด เจ็บแน่นหน้าอกหรือขากรรไกร ปวดขาเดินต่อไปไม่ไหว ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที แพทย์จะปรับเครื่องให้ช้าลงเพื่อเตรียมหยุดเครื่อง หรือทำการหยุดเครื่องฉุกเฉินเพื่อรักษาตามความเหมาะสม
- 6. หลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบ แพทย์จะแปลผลและแจ้งผลการทดสอบให้ผู้ป่วยและญาติทราบ
- 7. ทางโรงพยาบาลจะให้ผลการทดสอบกับผู้ป่วยหลังเสร็จสิ้นการทดสอบ
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)›
เป็นการตรวจหลอดเลือดใหญ่เเละหัวใจ โดยใช้เครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีสูง ทำงานโดยการอาศัยหลักของการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเช่นเดียวกับอัลตราซาวด์ คือการส่งคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมาประมวลผลแล้วปรากฏออกมาเป็นภาพ ซึ่งจะทำให้สามารถเห็นการทำงานของหัวใจได้
สิ่งที่เห็นได้การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง คือ
- 1. ลักษณะของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ
- 2. การไหลเวียนของเลือดผ่านหัวใจห้องต่างๆ
- 3. การเคลื่อนไหวของหัวใจ รวมถึงการทำงานเปิด-ปิดของลิ้นหัวใจทั้ง 4 ลิ้นได้
- 4. การทำงานของหัวใจขณะกำลังบีบตัวและคลายตัว
- 5. อาจใช้ร่วมกับการออกกำลังหรือการให้ยาเร่งการทำงานของหัวใจ เพื่อประเมินสภาวะหัวใจขาดเลือดได้(Stress Echocardiogram)
ประโยชน์ของการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง(Echocardiogram)
สามารถตรวจวิเคราะห์โรคหัวใจชนิดต่างๆได้แก่
- 1. โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายพร้อมทั้งสามารถบอกตำแหน่งของส่วนกล้ามเนื้อหัวใจที่ตายได้รวมถึงสามารถวัดแรงบีบตัวของหัวใจและการคลายตัวของหัวใจ
- 2. โรคลิ้นหัวใจผิดปกติทั้งชนิด ลิ้นหัวใจรั่วและตีบซึ่งสามารถบอกความรุนแรงก่อนพิจารณาทำการผ่าตัดในรายที่เป็นมาก สามารถบอกสาเหตุของโรคลิ้นหัวใจบางชนิดได้
- 3. โรคที่เกี่ยวกับเยื่อหุ้มหัวใจ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรัง ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งนอกจากจะใช้บอกความรุนแรงของโรคแล้วยังมีส่วนสำคัญในการบอกตำแหน่งที่จะใช้เจาะดูดน้ำออก ทำให้สามารถใช้เป็นทั้งการวินิฉัยโดยส่งน้ำที่ดูดได้ไปวิเคราะห์ทางห้องปฎิบัติการและใช้เป็นการรักษาในรายที่มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจเป็นจำนวนมาก มีการบีบรัดการทำงานของหัวใจ
- 4. โรคผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจรั่วที่ห้องบนและล่าง, ลิ้นหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
- 5. สามารถประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยในกรณีที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดโรคที่เกี่ยวกับอวัยวะอื่นที่ไม่ใช่หัวใจ เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้ว Echo ถือเป็นการตรวจพิเศษที่ไม่อยู่ในรายการตรวจสุขภาพทั่วไปดังนั้นบุคคลที่ควรได้รับการตรวจ Echo คือ
- 1. มีโรคหัวใจชนิดต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว เช่น ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วโรคของกล้ามเนื้อหัวใจการตรวจ Echo จะมีประโยชน์มากในการติดตามการรักษาและการดำเนินของโรค
- 2. แพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบว่า มีเสียงผิดปกติ เช่น มีเสียงฟู่ (Murmur), ตำแหน่งหัวใจไม่อยู่ที่ปกติ การตรวจด้วย Echo จะใช้ให้การวินิจฉัยโรคถูกต้องและแม่นยำขึ้น
- 3. มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหัวใจบางชนิด ซึ่งอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หรือบุคคลในครอบครัวถึงแก่กรรมทันทีทันใดโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน
- 4. หัวใจโตโดยไม่ทราบสาเหตุ
- 5. ผู้ป่วยโรคหัวใจที่จะเข้ารับการผ่าตัดใหญ่
- 6. ผู้ป่วยที่มีอาการที่แพทย์ประเมินเบื้องต้นแล้วสงสัยโรค
- 7. ระบบหัวใจและหลอดเลือดต้องการสืบค้นเพิ่มเติม
การเตรียมตัวก่อนการตรวจและการดูแลหลังการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง(Echocardiogram)
วิธีการปฎิบัติตน
- 1. ไม่ต้องงดน้ำและอาหารก่อนมาทำการตรวจ ยกเว้นการตรวจพิเศษบางอย่าง อาจจะต้องงดน้ำและอาหารล่วงหน้าประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง
- 2. ผู้รับการตรวจควรสวมเสื้อผ้าที่สามารถถอดหรือเปิดบริเวณหน้าอกได้ง่ายเพื่อความสะดวกในการตรวจ (ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะให้ถอดเสื้อผ้าและเสื้อชั้นในออก และใส่เสื้อคลุมที่จัดเตรียมให้แทน)
- 3. การตรวจใช้เวลาประมาณ 30 นาที
ขั้นตอนการตรวจ
- 1. ให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงราบ เจ้าหน้าที่จะติดแผ่นขั้วไฟฟ้าหัวใจ
- 2. ตะแคงไปด้านซ้ายเล็กน้อยมือซ้ายพาดขึ้นบน และเปิดส่วนของผ้าบริเวณทรวงอก
- 3. แพทย์จะเริ่มทำการตรวจโดยใช้เจลใสป้ายบริเวณทรวงอกและใช้หัวตรวจชึ่งไม่มีความแหลมกดบริเวณหน้าอกและขยับไปมา ตามตำแหน่งที่ต้องการให้เห็นภาพ
- การตรวจสวนหัวใจและการรักษาโดยขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนหรือใส่ขดลวดค้ำยัน PCI (Percutaneous Coronary Intervention)›
การตรวจสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization)
เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งสามารถแสดงให้เห็นการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ วัดความดันภายในส่วนต่างๆของหัวใจได้ ทำให้สามารถวินิจฉัยสาเหตุและอาการโรคหัวใจได้โดยละเอียด แม่นยำ และมีความปลอดภัยสูง ใช้เวลาการทำไม่นาน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะฉีดยาชาที่บริเวณขาหนีบหรือข้อมือ และใส่สายสวนขนาดเล็กผ่านเข้าไปในหลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำ รวมถึงใส่สายสวนไปถึงหลอดเลือดหัวใจเพื่อฉีดสารทึบรังสีเข้าในหลอดเลือดหัวใจทีละเส้นและบันทึกภาพด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ หากผลการตรวจพบว่าหลอดเลือดหัวใจตีบก็สามารถให้การรักษาโดยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยันได้ในคราวเดียวกันการตรวจสวนหัวใจนี้ เป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัดจึงมีความเสี่ยงน้อย ใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1-2 วัน แต่หากพบหลอดเลือดหัวใจตีบหลายเส้นหรือมีความเสี่ยงสูงต่อการรักษาด้วยบอลลูนหรือใส่ขดลวดค้ำยัน ก็จะส่งปรึกษาทีมศัลยแพทย์ทรวงอกเพื่อรักษาด้วยการผ่าตัด นำหลอดเลือดดำที่ขาหรือหลอดเลือดแดงบางที่มาต่อกับหลอดเลือดที่อุดตันทำทางเดินของเลือดใหม่ ซึ่งเราเรียกการผ่าตัดนี้ว่าCoronary Artery Bypass Graft (CABG)
ผู้ที่ควรได้รับการตรวจสวนหัวใจ
- 1. มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก อาจร้าวไปกรามหรือร้าวไปไหล่
- 2. คลื่นไฟฟ้าหัวใจระยะพักหรือเมื่อออกกำลังกายพบความผิดปกติ
- 3. เคยได้รับการตรวจพบว่าสงสัยมีเส้นเลือดอุดตันและทำให้มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ เช่น การวิ่งสายพาน(EST) การตรวจด้วยคลื่นสะท้อนเสียงหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress Echocardiogram) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CTA) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) พบความผิดปกติ
- 4. ผู้ที่เคยได้รับการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนหรือใส่ขดลวดค้ำยันแล้วมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอีกครั้ง
- 5. ผู้ป่วยควรตรวจเพื่อวินิจฉัยหรือรักษาโรคหัวใจชนิดอื่นๆ เช่น ลิ้นหัวใจตีบ
การเตรียมตัวก่อนจะทำการตรวจสวนหัวใจ
- 1. เตรียมเอกสารสิทธิ์ต่างๆ เอกสารสำคัญ ประวัติการรักษาเดิม (ถ้ามี)
- 2. เจ้าหน้าที่ศูนย์โรคหัวใจ iCATH จะให้คำแนะนำก่อนการตรวจสวนหัวใจจนเข้าใจดี จึงให้ผู้ป่วยและญาติเซ็นชื่อยินยอมเข้ารับการรักษา พร้อมรับเอกสารใบนัดทำการตรวจ
- 3. แพทย์อาจให้ท่านงดยาบางชนิดก่อนมาตรวจ
ประวัติที่ผู้ป่วยต้องแจ้งแพทย์/พยาบาลก่อนตรวจสวนหัวใจ
- 1. ประวัติการแพ้ยา อาหารทะเล หรือเคยแพ้สารทึบรังสี
- 2. ประวัติโรคประจำตัว
- 3. มีไข้ หรืออาการผิดปกติใดๆ
- 4. กำลังมีรอบเดือนในผู้หญิง
การเตรียมตัวในวันที่มาตรวจสวนหัวใจ
- 1. ผู้ป่วยมาตรวจตามนัด
- 2. นำยาทั้งหมด เอกสารประวัติสำคัญมาให้ครบถ้วน
- 3. งดน้ำและอาหาร 4-6 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- 4. นอนพักผ่อนเต็มที่ไม่ต้องกังวล
- 5. อาบน้ำสระผมตอนเช้าก่อนมาโรงพยาบาล
- 6. ถอดฟันปลอม เครื่องประดับและของมีค่า ไม่ต้องนำมา
- 7. เมื่อมาถึงโรงพยาบาลท่านจะได้รับการเตรียมโดยการให้สารน้ำ โกนขนบริเวณขาหนีบ 2 ข้างหรือข้อมือ
การปฏิบัติตนหลังการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- 1. ท่านต้องนอนหงายเหยียดขาข้างที่ทำตามเวลาที่กำหนด หากเมื่อยให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อจัดท่านอนตะแคงแต่ยังคงต้องเหยียดขาข้างที่ทำไว้จนกว่าจะครบเวลา หากมีเลือดออกหรือมีอาการผิดปกติใดๆ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที
- 2. หลังจากเอาสายสวนออกจากขาหนีบแล้ว จะมีหมอนทรายทับบริเวณขาหนีบข้างที่ทำเป็นเวลา 2 ชั่วโมงเพื่อป้องกันเลือดออก เมื่อครบ 2 ชั่วโมงแล้วจะเอาหมอนทรายออกแต่ท่านยังคงต้องเหยียดขาข้างที่ทำต่อจนครบ 4-6 ชั่วโมง
- 3. เมื่อครบ 4-6 ชั่วโมงผู้ป่วยจะสามารถขยับตัวได้ตามปกติ
กรณีทำบริเวณข้อมือ
- 1. ท่านจะมีสายรัดข้อมือ เมื่อครบเวลาจะมีเจ้าหน้าที่มาคลายสายรัดให้ตามเวลา ห้ามงอข้อมือข้างที่ทำประมาณ 4-6 ชั่วโมง
- 2. ห้ามแกะสายรัดข้อมือออกเองเด็ดขาด หากมีเลือดออกหรือมีอาการผิดปกติใดๆ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบ
เช้าวันรุ่งขึ้น จะมีเจ้าหน้าที่เปิดแผลให้ หากแผลดีและไม่มีการรักษาอย่างอื่นเพิ่มเติม ท่านจะสามารถกลับบ้านได้
* หลังกลับบ้าน หากปวดแผลให้ทานยาแก้ปวด Paracetamol ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง และใช้ Cool Pack ประคบบริเวณที่ปวด
* อย่ากดนวดคลึงบริเวณแผล หลีกเลี่ยงการพับงอข้อมือ/ขาและไม่เหวี่ยงข้อมือ/ขาข้างที่ทำอย่างน้อย 3 วัน
* หากมีเลือดออก ปวด บวมช้ำมากให้มาโรงพยาบาลปรึกษาแพทย์
* เมื่อครบ 3 วัน ให้แกะแผ่นกันน้ำออกจากแผลได้เลย
- การตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพา (Holter Monitoring)›
เป็นการตรวจโดยติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (24-72 ชั่วโมง) ขนาดเล็ก แบบพกพาไว้กับผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่ต้องนอนในโรงพยาบาลและสามารถกลับไปทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติที่บ้านหรือที่ทำงานได้ เครื่องนี้จะบันทึกผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอดเวลา เมื่อครบกำหนด 24-72 ชั่วโมง ผู้ป่วยจึงกลับมาโรงพยาบาลเพื่อถอดเครื่องออก ข้อมูลที่บันทึกไว้จะถูกนำไปแปลผลและตรวจวิเคราะห์โดยแพทย์
ประโยชน์ที่ได้รับ
- 1. เพื่อตรวจหาสาเหตุในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติหรือหัวใจขาดเลือดแต่ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วย เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทั่วไป
- 2. เพื่อตรวจหาความสัมพันธ์ของอาการหัวใจเต้นผิดปกติกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ณ ขณะมีอาการ
- 3. เพื่อประเมินหาจำนวนความถี่และความรุนแรงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติหรือหัวใจขาดเลือด
- 4. เพื่อติดตามการรักษา
ผู้ที่ควรได้รับการตรวจ
- ผู้ที่เคยเป็นลมหมดสติ
- ผู้ที่มีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
- ผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะ โดยไม่ทราบสาเหตุ
- ผู้ที่รู้สึกใจสั่นหรือใจหวิวเป็นๆหายๆ
- ผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าจะมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจขาดเลือด
การเตรียมตัวเมื่อถึงวันนัดตรวจ
- อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด
- ไม่ต้องงดอาหารและน้ำ
- ไม่สวมใส่เครื่องประดับ
ขั้นตอนการตรวจ
- เจ้าหน้าที่จะทำการติดสายสัญญาณไว้บนผนังทรวงอกของผู้ป่วยโดยสายสัญญาณจะต่อไปยังตัวเครื่องเพื่อบันทึกข้อมูล ซึ่งเครื่องนี้มีขนาดเล็กและเบา มีกระเป๋าและสายคล้องป้องกันการหล่น
- เจ้าหน้าที่จะแนะนำวิธีการใช้ โดยจะให้กดปุ่มบนเครื่องขณะมีอาการและให้จดบันทึก วันที่ เวลา อาการขณะนั้นๆด้วย
การปฏิบัติตัวขณะติดเครื่อง
- ห้ามอาบน้ำหรือทำให้เครื่องเปียกน้ำ สามารถเช็ดตัวได้
- ห้ามออกกำลังกายรุนแรง เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้สายบันทึกหลุดได้
- ห้ามทำเครื่องตก
- ห้ามแกะเครื่องหรือถอดสายสัญญาณออกเอง ควรให้เครื่องบันทึกจนครบ 24 ชั่วโมงและมาให้เจ้าหน้าที่ถอดอุปกรณ์ให้ที่โรงพยาบาลเมื่อถึงเวลานัด
- ผู้ป่วยควรทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ เพื่อให้การบันทึกผลคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ผลที่แม่นยำ
- เมื่อมีอาการใจสั่น ใจหวิว หน้ามืด เวียนศีรษะ ให้ผู้ป่วยรีบกดปุ่ม และจดบันทึกวันที่ เวลา อาการขณะนั้นๆด้วย เช่น เวลา 12 น. ขณะนั่งดูโทรทัศน์ มีอาการใจสั่นมาก
- หากผู้ป่วยมีอาการวูบหมดสติ ให้ญาติกดปุ่มแทนและพามาโรงพยาบาลได้ทันที ไม่ต้องรอจนครบ 24 ชั่วโมง
คณะเเพทย์ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด iCath