• 3850 ถนนพระราม 4 คลองเตย กรุงเทพ
  • ตลอด 24 ชั่วโมง
  • 02-348-7000

วันชา ๆ ช่วยให้ใจไม่เย็นชา




 
เดือนธันวาคมเป็นเดือนที่อุณหภูมิเริ่มลดลง รู้สึกหนาว ๆ เย็น ๆ ทำให้อยากจิบเครื่องดื่มร้อน ๆ 

เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย และจิตใจ เลยทำให้อดนึกถึงเครื่องดื่มยอดนิยมอย่าง “ชา” ไม่ได้ ซึ่งในเดือนนี้ก็มีวันที่เกี่ยวข้องกับชา คือ วันชาสากล (International Tea Day) ตรงกับวันที่ 15 ธันวาคมของทุกปี โดยเริ่มต้นมาจากเกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็ก ๆ หลายกลุ่มทางตอนเหนือของอินเดีย ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องถึงสิทธิและความเป็นธรรมในการค้าขายชา เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น จึงมีการจัดตั้งให้วันนี้เป็นวันสำหรับการเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์ของชา และตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกชา ผู้ซึ่งทำให้ชากลายเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าและได้รับความนิยมไปทั่วโลก และในการร่วมเฉลิมฉลองวันชาสากลนี้ก็ทำได้ง่าย ๆ แค่ชงชาถ้วยโปรดแล้วดื่มให้กับผู้ที่คัดสรรชาคุณภาพดี ๆ มาให้เราได้ลิ้มลอง ก็ถือว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองแล้ว

ประวัติของชานั้นมีต้นกำเนิดมามากกว่า 5,000 ปี เริ่มที่จีน และอินเดีย จนกระทั่งปัจจุบันมีการปลูกชาและพัฒนาสายพันธุ์ชาไปในหลาย ๆ ประเทศ ทั้งญี่ปุ่น ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลี รวมถึงในประเทศไทย ชานั้นมีหลากหลายชนิด เช่น ชาขาว (White Tea), ชาเขียว (Green Tea), ชาอู่หลง (Oolong Tea), ชาดำ (Black Tea), ชาแต่งกลิ่น (Flavored Tea) และชาสมุนไพร (Herbal Tea) เป็นต้น

สำหรับการดื่มชาของคนไทย คาดว่าเริ่มขึ้นช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการนำชาจากประเทศจีนเข้ามาก่อนเป็นชาติแรก แต่การดื่มชาจีนในตอนนั้นยังไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากมีรสฝาด ๆ ขม ๆ เลยมักนำไปถวายพระ หลังจากนั้นได้มีการปรับสูตรชาไทยโดยชงมาจากผงชาซีลอน (Ceylon tea) จากประเทศศรีลังกา และเนื่องจากไทยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย จึงมีการเติมนมและน้ำตาลลงไปในชา จนทำให้ชาไทยมีสีส้มอย่างที่เรารู้จักกัน นอกจากนี้ ยังมีการเติมน้ำแข็งลงไปในเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มความเย็นสดชื่น บางครั้งชาไทยก็เป็นที่รู้จักในชื่อของชาเย็น หรือชานมเย็น จนในปัจจุบันมีร้านชากาแฟโบราณเกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย ทำให้ชาไทยได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

คำแนะนำในการดื่มชาที่พอดีคือวันละไม่เกิน 3 ถ้วย โดยแต่ละครั้งให้ใช้ใบชาประมาณ 1 - 2 ช้อนชาชงในน้ำร้อน และควรดื่มในระหว่างมื้ออาหาร เนื่องจากมีบางรายงานที่ระบุว่าชามีผลยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กในอาหารเมื่อรับประทานพร้อมกัน

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะจิบชาร้อน หรือดื่มชาเย็นก็ควรระวังน้ำตาลส่วนเกินที่เติมเพิ่มเข้ามา เพราะนอกจากความสดชื่นของชาที่ทำให้เราอบอุ่นใจในหน้าหนาวแล้ว เราอาจได้พลังงานส่วนเกินจากน้ำตาลมาแทน

โดย อัณณ์ปัณณ์ จันทะวัน
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (RD, CDT, CDE)
ศูนย์โภชนาการและการกำหนดอาหาร 
โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์

แหล่งข้อมูล
- สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. (2021). วันชาสากล 15 ธันวาคม, สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2564. จาก https://www.lib.ru.ac.th/journal2/?p=13705
- Aroma ประเทศไทย. (2021). 6 ประเภทของชาที่ดื่มกันทุกวัน มีที่มาอย่างไรบ้าง?, สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2564. จาก https://aromathailand.com/6-types-of-tea-that-we-drink-every-day/?lang=th
- Aroma ประเทศไทย. (2021). 5 ข้อควรรู้! สำหรับผู้ที่รักการดื่มชาเป็นประจำ, สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2564. จาก https://aromathailand.com/5-things-you-should-know-for-those-who-love-to-drink-tea-regularly/?lang=th
- Aroma ประเทศไทย. (2021). ชาเขียว vs ชาไทย นักดื่มชารู้จักสองสิ่งนี้ดีแค่ไหน?, สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2564. จาก https://aromathailand.com/green-tea-vs-thai-tea/?lang=th
- ภญ. กฤติยา ไชยนอก. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2017). จิบชายามบ่าย, สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2564. จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/ th /knowledge/article/402/จิบชายามบ่าย/
- รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล. ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2016). ชาร้อน ชาเย็น ประโยชน์/โทษ ต่อสุขภาพ, สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2564. จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/ knowledge/article/345 /ชาร้อนชาเย็นประโยชน์/โทษต่อสุขภาพ/



 

บทความที่เกี่ยวข้อง

02-348-7000

Have a question? call us now

@vimut-theptarin

Be friend with us

info@Theptarin.com

Need support? Drop us an email