• 3850 ถนนพระราม 4 คลองเตย กรุงเทพ
  • ตลอด 24 ชั่วโมง
  • 02-348-7000

เทคโนโลยีตรวจเช็คโรคหัวใจด้วยเตียงปรับเอียง Tilt table test


 

Tilt table test คืออะไร

Tilt table test เป็นการตรวจชนิดหนึ่งเพื่อหาสาเหตุของการเป็นลม วูบ หมดสติ จากสาเหตุระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ (Neurally Mediated Syncope)
    
อาการเป็นลม วูบ หมดสติ เกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลงชั่วขณะ สามารถเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เส้นเลือดสมองตีบ หัวใจบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ มีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติทำให้ความดันโลหิตลดต่ำจนเกิดอาการวูบ เป็นลม

หลักการตรวจ Tilt table test 
Tilt table test เป็นการทดสอบการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ และกระตุ้นให้ผู้ถูกทดสอบมีอาการวูบ หมดสติ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และพยาบาลตลอดการตรวจ 
วิธีการคือให้ผู้ถูกทดสอบนอนบนเตียงที่สามารถปรับเอียงได้ เตียงจะค่อยๆลาดชันขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างการตรวจจะมีการวัดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อดูการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ

เมื่อไหร่ที่ควรตรวจ Tilt table test 
แพทย์จะแนะนำให้ตรวจในคนที่มีอาการ วูบ เป็นลม หมดสติ เป็นบ่อยๆ ตรวจหาสาเหตุอื่นๆแล้วไม่พบความผิดปกติ

ความเสี่ยงของการตรวจ Tilt table test
ระหว่างการตรวจอาจจะมีอาการวูบ หรือหมดสติได้ (อาการจะดีขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังจากปรับเตียงให้ราบ)

อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้ เช่น 
  • คลื่นไส้ อาเจียน ภายหลังการตรวจ
  • อ่อนเพลียไม่มีแรงภายหลังการตรวจ 
  • ความดันต่ำระหว่างการตรวจและหลังการตรวจ
การเตรียมตัวก่อนการตรวจ
  • งดน้ำงดอาหาร 4 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
  • แจ้งรายชื่อยาที่ทานเป็นประจำให้ทางแพทย์และพยาบาลทราบ
  • ให้มีญาติมาด้วย และผู้ที่ถูกทดสอบไม่ควรขับรถมาเอง เนื่องจากหลังการทดสอบคนไข้อาจจะอ่อนเพลียได้
ระหว่างการตรวจ 
  • ผู้ถูกทดสอบนอนลงบนเตียงทดสอบ และมีสายรัดพันไว้ที่เอวและหัวเข่าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
  • มีแผ่นกาวติดบริเวณหน้าอกเชื่อมต่อกับเครื่องบันทึกไฟฟ้าหัวใจ เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจระหว่างทดสอบ
  • ใส่สายให้น้ำเกลือที่แขนสำหรับให้ยาหรือน้ำเกลือทางเส้นเลือดดำในกรณีฉุกเฉิน
  • พันสายวัดความดันที่แขน และสวมอุปกรณ์วัดออกซิเจนในเลือดที่นิ้วมือ เพื่อบันทึกความดันโลหิตและปริมาณออกซิเจนในเลือดระหว่างทดสอบ
  • เจ้าหน้าที่จะหมุนเตียงตั้งขึ้น 30° หลังจากนั้นจะทำการวัดความดันโลหิตและจับชีพจร
  • หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที เจ้าหน้าที่จะหมุนเตียงให้ชันขึ้นเป็น 70°  และจะทำการบันทึกความดันโลหิตและชีพจรเป็นระยะ จนกระทั่งครบ 15 – 45 นาที ในระหว่างนี้ถ้าผู้ป่วยมีอาการรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที
  • ถ้าความดันโลหิตตกลงในช่วงที่ตรวจเจ้าหน้าที่จะรีบหมุนเตียงลงให้อยู่ในแนวราบและหยุดทำการตรวจทันที
  • ถ้าผู้ถูกทดสอบไม่มีอาการผิดปกติแพทย์จะให้ยาเพื่อกระตุ้นอาการ (เช่น Nitroglycerin ชนิดพ่นหรืออมใต้ลิ้น, isoproterenal ฉีดทางเส้นเลือด)
  • หลังให้ยาแพทย์สังเกตอาการและบันทึกสัญญาณชีพทุก 5 นาที ถ้ามีอาการหน้ามืดเป็นลม แพทย์จะให้หยุดการทดสอบพร้อมทั้งปรับระดับเตียงนอนราบและบันทึกสัญญาณชีพขณะมีอาการ ถ้าไม่มีอาการหน้ามืดหรือเป็นลมแพทย์จะจัดสัญญาณชีพทุก 2 นาที จนครบ 15 – 20  นาทีจึงหยุดการทดสอบ
  • หลังทดสอบเสร็จรอให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวดีแล้วแพทย์จะอธิบายผลการตรวจพร้อมอธิบายวิธีการปฏิบัติตัว 
  • การตรวจนี้ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 60 – 90 นาที ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการทดสอบของแต่ละบุคคล
การแปลผล
  • ผลการตรวจปกติหมายถึง ระหว่างทดสอบไม่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ และไม่มีอาการผิดปกติ
  • ผลการตรวจผิดปกติหมายถึง ระหว่างทดสอบมีความดันโลหิตต่ำลง อัตราการเต้นหัวใจช้าลง หรือผู้ถูกทดสอบเป็นลมหมดสติระหว่างการตรวจ 
โดย
นพ.เมธา เจียมวุฒินันท์      
อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรงพยาบาลเทพธารินทร์





 

บทความที่เกี่ยวข้อง

02-348-7000

Have a question? call us now

@theptarin

Be friend with us

info@Theptarin.com

Need support? Drop us an email