สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ ทำอะไรก็เหนื่อยง่าย ออกแรงมากก็เกรงจะอาการกำเริบ แต่จริงๆ แล้ว การออกกำลังกายที่เหมาะสมเป็นเรื่องจำเป็น แต่คำถามสำคัญคือจะออกอย่างไร แค่ไหนจึงจะพอดี
ก่อนที่จะมาตอบ 2 คำถามนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่า การออกกำลังการมีความสำคัญกับคนเป็นโรคหัวใจ เพราะเมื่อคุณออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ต่อเนื่อง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ กล้ามเนื้อหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจของคุณจะทำงานได้ดีขึ้น ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในเมื่อการออกกำลังกายให้ประโยชน์มากกว่าไม่ออกกำลังกาย คนที่เป็นโรคหัวใจจึงควรออกกำลังกายเป็นประจำ เว้นแต่ในกรณีที่คุณเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจระยะสุดท้าย เช่น หัวใจล้มเหลว ที่ควรงดการออกกำลังกายไปเลย
ออกกำลังกายแบบไหนดี
เริ่มแรก อย่าโพสต์กระทู้ถามเพื่อนชาวเน็ตให้เมื่อยนิ้ว เพราะไม่มีใครให้คำตอบที่ดีไปกว่าแพทย์ประจำตัวของคุณ เนื่องจากร่างกายแต่ละคน ภาวะของโรคของแต่ละคนแตกต่างกัน คุณจึงควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวของคุณซึ่งรู้จักตัวคุณและโรคของคุณดีที่สุด เพื่อประเมินว่าภาวะโรคหัวใจที่คุณเป็นอยู่นั้น เป็นอย่างไร รุนแรงขนาดไหน และแพทย์จะให้คำแนะนำได้ว่า คุณควรเลือกกีฬาหรือออกกำลังกายแบบใด มากน้อยแค่ไหนจึงจะดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับตัวคุณ
และจะดีมากหากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจได้คุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เช่น เวชศาสตร์ฟื้นฟู ต่อมไร้ท่อ ไต ฯลฯ ที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม ช่วยกันประเมินภาวะของคุณก่อน โดยอาจจะต้องมีการทดสอบก่อนออกกำลัง ระหว่างออกกำลัง และหลังออกกำลัง แล้วจึงจัดแผนการออกกำลังกายและให้คำแนะนำที่เหมาะที่สุดสำหรับคุณ
โดยส่วนมากแล้ว กีฬาที่เหมาะกับคนที่เป็นโรคหัวใจ จะเป็นกีฬาเบาๆ เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ ขี่จักรยานอยู่กับที่ วิ่งเหยาะๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่หัวใจทำงานไม่หนักมาก และมีความต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหัวใจและหลอดเลือด ไม่เกินกำลังของหัวใจหรือปอดของคุณ
ออกกำลังกายนานและบ่อยแค่ไหนดี
เมื่อเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมได้แล้ว คำถามถัดมา คือ ต้องออกกำลังกายนานแค่ไหน และบ่อยเท่าไร โดยทั่วไปแล้ว การออกกำลังกายที่จะเกิดประโยชน์ต่อหัวใจ ต้องเริ่มจากการเตรียมร่างกายให้พร้อม วอร์มอัพก่อน 10-15 นาที ยืดกล้ามเนื้อทุกส่วน แล้วจึงค่อยเริ่มออกกำลังต่อเนื่องประมาณ 30 นาที และคูลดาวน์อีกประมาณ 10 นาที
การออกกำลัง สามารถทำได้ 3-5 วันต่อสัปดาห์ และอย่าลืมว่า ในขณะออกกำลังกาย คุณควรใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม ไม่แน่นหรือหนาเกินไป อย่าฝืนร่างกายตัวเอง อย่าคิดว่าไม่เป็นไรน่าอีกนิดเดียว นอกจากนี้ คุณควรพยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นเวลา ก่อนออกกำลังกาย ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอหลังจากออกกำลังกายเสร็จแล้ว
พาเพื่อนไปด้วยเพิ่มความปลอดภัย
ในระหว่างที่ออกกำลังกาย ถ้าคุณมีเพื่อนออกกำลังกายด้วยกันจะดีมาก เพราะหากบังเอิญคุณรู้สึกไม่สบาย แน่นหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อาเจียน เหนื่อยผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วเกินกว่าปกติ หน้ามืด จะได้มีคนช่วยเหลือได้ทันท่วงที และถ้ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ ให้นั่งพักทันที อาจใช้ยาอมใต้ลิ้นตามที่แพทย์เคยแนะนำไว้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
หากคุณปฏิบัติได้ตามนี้ หัวใจของคุณจะมีสุขภาพดีขึ้น ขณะเดียวกัน การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างเหมาะสมยังมีผลต่ออารมณ์และจิตใจ ช่วยปลดปล่อยความเครียดได้ รวมทั้งช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ยืดอายุของผู้ป่วยได้
เห็นไหมว่า เป็นโรคหัวใจ ก็ออกกำลังกายได้