• 3850 ถนนพระราม 4 คลองเตย กรุงเทพ
  • ตลอด 24 ชั่วโมง
  • 02-348-7000

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) และพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออะไร? มีประโยชน์กับร่างกาย...จริงหรือ?


เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับ โพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ มาบ้าง หลายคนเลือกดื่มนมเปรี้ยว โยเกิร์ตเพื่อให้ได้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย แต่ทราบหรือไม่ว่า ยังมีอาหารแหล่งอื่นๆ ที่อุดมไปด้วย โพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าที่คุณเข้าใจ

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คือ?
โดยปกติแล้วร่างกายของเรามีจุลินทรีย์อยู่มากมาย โดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร มีทั้งจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และจุลินทรีย์ที่ก่อโรค “Probiotics” คือ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรค   ในลำไส้ ลดการเกิดท้องเสีย ลดการอักเสบและอาการผิดปกติอื่นๆ ของลำไส้ เช่น ท้องอืด แน่นท้อง ป้องกันมะเร็งลำไส้ ส่งเสริมการดูดซึมสารอาหาร ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเป็นต้น การมี Probiotics ที่เพียงพอในลำไส้ช่วยให้เกิดความสมดุล และลดโอกาสการเกิดโรคได้
แหล่งอาหารที่มี Probiotics: เกิดจากอาหารที่ผ่านกระบวนการหมักบางชนิด เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโซะ

พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คือ?
Prebiotics เป็นอาหารของ Probiotics เป็นแหล่งพลังงานและช่วยในการเจริญเติบโตช่วยให้จุลินทรีย์Probioticsแข็งแรงและมีปริมาณมากพอที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ เมื่อกินเข้าไป ไม่ถูกย่อยในระบบทางเดินอาหาร ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้ 
แหล่งอาหารที่มี Prebiotics: พบในน้ำนมแม่ พืช ผัก ผลไม้ ที่มีใยอาหารมาก เช่น เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส อินูลิน เพคติน ฟรุคโตโอลิโกแซ็คคาไรค์ ตัวอย่างอาหารที่เป็นแหล่งของ Prebiotics

แสดงในตารางด้านล่าง
กลุ่มอาหาร ชนิดของอาหารที่เป็นแหล่ง Prebiotics
ผัก แก่นตะวัน หอมหัวแดง กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง
ข้าว แป้งและธัญพืชไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีท ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์
ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วชิคพี
ผลไม้ กล้วย แอปเปิ้ล
ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ พิตาชิโอ

  จะเห็นได้ว่า เราสามารถเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์กับร่างกายหรือที่เรียกว่า “Probiotics” ได้โดยตรงด้วยการกิน โยเกิร์ต นมเปรี้ยว และสามารถกินอาหารที่มี “Prebiotics” ซึ่งเป็นอาหารของ Probiotics เช่น กล้วย แอปเปิ้ล หอมหัวแดง กระเทียม ข้าวโอ๊ต ถั่วเหลือง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคในลำไส้ เช่น ท้องเสีย ท้องอืด มะเร็งลำไส้ ช่วยการดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยลดภาวะอ้วน ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย

แหล่งข้อมูล
  • Department of Gastroenterology. “Prebiotic diet - FAQs” [Online]. Available from: https://www.monash.edu/medicine/ccs/gastroenterology/prebiotic/faq
  • ทิพยเนตร อริยปิติพันธ์. “Probiotics, Prebiotics, and Synbiotics and Human Health.” วารสารสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย 40, 1-3 (2563): 107-110.
โดย
ชฎาพร หนองขุ่นสาร
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT, CDE)
ศูนย์โภชนาการและการกำหนดอาหาร โรงพยาบาลเทพธารินทร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

02-348-7000

Have a question? call us now

@theptarin

Be friend with us

info@Theptarin.com

Need support? Drop us an email