• 3850 ถนนพระราม 4 คลองเตย กรุงเทพ
  • ตลอด 24 ชั่วโมง
  • 02-348-7000

วัคซีนโควิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์


โควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เรายังมีความรู้ไม่มากนักเกี่ยวกับโรค การแพร่ระบาดทั่วโลกและความรุนแรงของโรคทำให้เรากังวล ยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ยิ่งกังวลมากขึ้นหลายเท่าเพราะต้องห่วงถึง 2 ชีวิต และช่วงตั้งครรภ์เป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอกว่าปกติอยู่แล้ว  คุณแม่ตั้งครรภ์จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงได้หากติดเชื้อ ยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นเบาหวาน อ้วน หรือมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง จะยิ่งมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปที่มีโรคเดียวกัน  ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยง 

จากสถิติที่มีการรายงานในต่างประเทศช่วงต้นปี 2564 พบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดเช่นกัน โดยสถิติพบว่าในคุณแม่ตั้งครรภ์ 100,000 คน มีคนติดโควิดประมาณ 1,250 คน  และถ้าแม่ติดโควิด ลูกในครรภ์ก็มีโอกาสติดด้วย 50% 

ความรุนแรงของโรคนั้น ขึ้นกับสภาวะของคุณแม่แต่ละคน  โดยพบว่ามีอัตราการตายจากโควิดประมาณ 1.5-1.8 คนใน 1,000 คน แต่มีโอกาสเข้า ICU สูงกว่าสตรีไม่ตั้งครรภ์ 2-3 เท่า ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจสูงกว่า 2.6-2.9 เท่า แต่ความเสี่ยงต่อครรภ์ผิดปกติมีได้ตั้งแต่น้อยไปถึงมาก เช่น แท้ง คลอดก่อนกำหนด (21%) คลอดน้ำหนักน้อย (25%) ทารกแรกเกิดเสียชีวิต (2.5%) มีโอกาสครรภ์เป็นพิษเพิ่มขึ้น ตกเลือดหลังคลอดเพิ่มขึ้น (54%) มีหลอดเลือดหดตัว (vasoconstriction) ที่รก  เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี เป็นต้น 

อย่าลืมว่าตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้หมายถึงความเสี่ยงสำหรับ 1 คน แต่หมายถึงความเสี่ยงของทั้งแม่และลูกพร้อมกัน

ฉีดวัคซีนให้ปลอดภัย - เมื่อไหร่ดี
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และคุณหมอสูตินรีเวชแนะนำว่า ให้พิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์จากการฉีดวัคซีนกับความเสี่ยงจากการติดเชื้อหรือผลข้างเคียงจากวัคซีนเป็นประเด็นสำคัญ  หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนโควิดแล้วจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อแม่และทารกในครรภ์มากกว่า  รวมทั้งความสบายใจของคนทั้งครอบครัวที่กำลังรออุ้มเจ้าตัวเล็กอยู่ ก็ควรพิจารณาฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีน ควรทำหลังจากอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ไปแล้ว  เนื่องจากในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์เป็นช่วงที่ทารกกำลังเริ่มพัฒนาอวัยวะต่างๆ หากร่างกายแม่ได้รับสารกระตุ้น (Teratogen) เช่น เชื้อโรคบางอย่าง บุหรี่ สุรา สารเคมี รังสีบางชนิด ฯลฯ อาจทำให้การพัฒนาอวัยวะผิดปกติ ทำให้ทารกมีความพิการแต่กำเนิดได้  แต่หากพ้นระยะแรกไปแล้วจะมีความปลอดภัยมากขึ้น 

ดังนั้น หากคุณแม่และคุณหมอประจำตัวร่วมกันพิจารณาแล้วว่าควรฉีดวัคซีน จึงควรฉีดหลังจากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ เพราะการฉีดวัคซีน คือ การส่งสารกระตุ้นเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายสร้างแอนติบอดี้ ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งออกมาตรวจจับและทำลายสิ่งแปลกปลอม  เพื่อความปลอดภัยของแม่และลูกแล้ว จึงควรฉีดวัคซีนในช่วงไตรมาสที่ 2 ไปแล้ว เพื่อไม่ให้กลไกการสร้างภูมิต้านทานโควิดของร่างกายมีผลต่อการพัฒนาของทารกในครรภ์ 

สำหรับบางคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว เพิ่งตรวจพบว่าตนเองตั้งครรภ์ในระยะแรก ทั้งราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขย้ำเหมือนกันว่า ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องยุติการตั้งครรภ์ เพราะยังไม่มีรายงานยืนยันว่าการได้รับวัคซีนในช่วงตั้งครรภ์อ่อนๆ จะมีผลต่อการพัฒนาของทารก แม้จะมีโอกาสเสี่ยงอยู่แต่ควรต้องให้โอกาสทารกได้พัฒนาไปตามธรรมชาติของเขา  คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถใช้ชีวิตและดูแลครรภ์ไปตามปกติภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี ควรเลื่อนกำหนดการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ออกไปเมื่ออายุครรภ์เกินกว่า 12 สัปดาห์ไปแล้ว

รอก่อน ถ้าแพ้ท้อง
ในช่วงที่ตั้งครรภ์ ร่างกายคุณแม่จะค่อนข้างอ่อนแอกว่าปกติ ยิ่งช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่หลายคนแพ้ท้อง ร่างกายจะยิ่งอ่อนแอมากขึ้น ส่วนใหญ่อาการแพ้จะลดลงและหายไปเมื่อมีอายุครรภ์ 12-16 สัปดาห์ คุณหมอจึงแนะนำว่าถ้าใครแพ้ท้องมาก ให้ชะลอไว้ก่อน รอให้แข็งแรงอีกหน่อย ไม่แพ้ท้องแล้ว จึงค่อยนัดมาฉีด  เพราะหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว บางคนอาจจะมีอาการข้างเคียง เช่น ปวดแขน มีไข้ เป็นต้น  ซึ่งถ้ายังมีอาการแพ้ท้องอยู่ อาจจะบอกไม่ได้ชัดเจนว่าอาการเหล่านั้นเกิดจากวัคซีนหรือแพ้ท้อง  และเพื่อความปลอดภัยก่อนไปรับวัคซีนจึงควรดูแลสุขภาพ พยายามให้ร่างกายอยู่ในภาวะปกติที่สุด เพื่อลดโอกาสเกิดอาการข้างเคียง และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ทำงานตามธรรมชาติได้มีประสิทธิภาพสูงสุด
 
ให้นมลูกเองก็ฉีดวัคซีนได้
เช่นเดียวกับคุณแม่ตั้งครรภ์ สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอด หรือให้นมลูกเองก็สามารถฉีดวัคซีนได้ทันทีเช่นกัน  เมื่อร่างกายแม่สร้างภูมิคุ้มกัน ลูกจะได้รับแอนติบอดี้ผ่านน้ำนมแม่ได้ด้วย ลูกจึงจะมีภูมิคุ้มกันไปพร้อมกับได้รับความอบอุ่นจากแม่เมื่อแม่อุ้มเข้าเต้า 

ถ้าแม่ติดโควิด จะทำอย่างไร
ถ้าตรวจพบว่าคุณแม่ติดเชื้อโควิด คุณแม่จะได้รับการดูแลจากแพทย์ตามขั้นตอนทางการแพทย์ แต่จะมีการเลือกใช้ยาต้านไวรัสที่ไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ และดูแลไปตามอาการและแนวปฏิบัติของแพทย์  ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์  ในกรณีที่พบเชื้อในคุณแม่แต่ไม่พบเชื้อในลูก คุณแม่ยังคงอุ้มลูก กอดลูกได้ แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังสัมผัสลูก งดหอมแก้มลูก ไม่ไอหรือจามใส่ลูก ทำความสะอาดพื้นที่ต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอาการรุนแรง อาจต้องแยกไปรักษาต่างหาก

สำหรับคุณแม่ที่คลอดแล้วและให้นมบุตรอยู่นั้น ถ้าอาการไม่รุนแรงมาก คุณแม่ยังสามารถให้นมได้ด้วยตนเอง เพียงแต่ต้องรักษาสุขอนามัยส่วนตัวมากขึ้น ล้างมืออย่างถูกวิธีให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แม้ว่าอัตราการติดจากแม่สู่ลูกจะมีอยู่ประมาณ 5% แต่เมื่อคำนึงถึงประโยชน์แล้วคุ้มค่ากว่า เพราะการสัมผัสโดยตรงระหว่างแม่กับลูกจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ลูกรู้สึกอบอุ่น ไม่โยเยมาก นอกจากนี้น้ำนมแม่นอกจากจะมีประโยชน์แล้ว ยังไม่มีค่าใช้จ่าย จึงเป็นทางเลือกที่ดีโดยเฉพาะสำหรับครอบครัวที่ต้องจำกัดเรื่องงบประมาณในการใช้จ่าย หรือไม่มีคนช่วยเลี้ยงดูลูก 

ในหลายๆ ประเทศ แพทย์มักแนะนำให้แยกแม่และลูก แต่คุณแม่สามารถปั๊มนมแช่ไว้ เพื่อให้คุณพ่อหรือพี่เลี้ยงหรือผู้ดูแลนำไปละลายป้อนให้เด็กได้  สิ่งที่สำคัญคือการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยของแม่ และภาชนะต่างๆ ที่ใช้ในการป้อนนม ทั้งแม่และผู้ดูแลต้องล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ สวมหน้ากากอนามัย ล้างและฆ่าเชื้อขวดนมอย่างเหมาะสม
 
ในตอนนี้ เราเพิ่งอยู่กับโควิด-19 มาเพียงประมาณปีกว่าๆ ยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโรคอีกมาก หากในอนาคตมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม หรือมีข้อแนะนำใหม่ๆ มาเพิ่มเติมคุณแม่ที่มีแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังตั้งครรภ์และผู้ที่มีลูกเล็กจึงควรติดตามข้อมูลอยู่เรื่อยๆ โดยยึดหลักการและข้อมูลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชเป็นหลัก เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดต่อทุกชีวิต

บทความที่เกี่ยวข้อง

02-348-7000

Have a question? call us now

@vimut-theptarin

Be friend with us

info@Theptarin.com

Need support? Drop us an email