• 3850 ถนนพระราม 4 คลองเตย กรุงเทพ
  • ตลอด 24 ชั่วโมง
  • 02-348-7000

Atrial Fibrillation(AF)
หรือโรคหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว




 
Atrial Fibrillation หรือโรคหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว คือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีการลัดวงจรไฟฟ้าเกิดขึ้นในหัวใจห้องบนที่มีการนำไฟฟ้าด้วยความเร็วสูงมาก มักพบในผู้สูงอายุหรือมีโรคหัวใจอื่นอยู่ก่อน ส่งผลเสียที่สำคัญคือ (1) มีลิ่มเลือดในหัวใจห้องบนเนื่องจากการเต้นแบบสั่นพริ้วหลุดไปอุดหลอดเลือดสมองทำให้เกิดอัมพาตหรืออุดหลอดเลือดหัวใจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน (2) หัวใจห้องล่างเต้นเร็วขึ้นและไม่สม่ำเสมอทำให้เกิดอาการใจสั่น (3) อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวฉับพลันได้โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการทำงานของหัวใจผิดปกติ 

การวินิจฉัยผู้ป่วยต้องทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจและอ่านโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจาก Atrial Fibrillation อาจจะไม่ได้เกิดตลอดเวลาทำให้ค่อนข้างยากในการวินิจฉัย ปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่ช่วยคัดกรองและวินิจฉัย Atrial Fibrillation หลายอย่างที่ควรรู้ ได้แก่

Holter Recording ผู้ป่วยจะได้รับการติด leads บนหน้าอกและโยงสายมาต่อกับเครื่องขนาด 70 x 95 x 20 มม. น้ำหนัก 190 กรัม ใส่ไว้ในสายคาดเอวเดินทำกิจวัตรต่างๆได้ตามปกติรวมถึงนอนหลับ เป็นการติดคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบ 3 leads บันทึกต่อเนื่องไปเรื่อยๆเป็นเวลา 24 - 72 ชั่วโมงเก็บไว้ในหน่วยความจำ เครื่องรุ่นใหม่สามารถบันทึกได้นานถึง 1-2 สัปดาห์ ยกตัวอย่าง Holter ของศูนย์หัวใจรพ.เทพธารินทร์สามารถบันทึกได้นานสูงสุด 1 สัปดาห์ หน่วยความจำของเครื่องใช้ Flash Card แพทย์จะถอดออกมาวิเคราะห์หลังผู้ป่วยถอดเครื่องออกว่ามี Atrial Fibrillation หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดอื่นหรือไม่ นอกจากนั้นผู้ป่วยได้รับ patient-activated event markers ไว้คอยจดเวลามีอาการใจสั่น หรือ หน้ามืด ทำให้แพทย์สามารถเชื่อมโยงคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติกับ timeline ของอาการที่ผู้ป่วยบันทึกไว้

 
External Loop Recorder เป็นเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่องคล้ายกับ Holter แต่ต่างกันที่เป็น loop recording เครื่องจะลบข้อมูลเดิมและวนกลับไปบันทึกใหม่ซ้ำไปเรื่อยๆ อุปกรณ์จะเป็นตัวเครื่องขนาดเล็กติดที่ผิวหนังโดยตรงผ่าน adhesive electrode บนหน้าอกหรือบางรุ่นเป็นสายคาดข้อมือ (wrist band) หรือคาดหน้าอก (chest strap) บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบ 1 lead เป็นเวลา 7 - 30 วัน ตัวเครื่องมี AF detection algorithm เรียนรู้จังหวะหัวใจที่ผิดไปจากปกติและทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่ผิดปกติแบบอัตโนมัติก่อนและหลังเกิดเหตุคร่อมเอาไว้เป็นช่วง (looping memory) ส่งผ่านข้อมูลด้วยสัญญาณโทรศัพท์หรืออินเตอร์เนตมาที่ศูนย์หัวใจในโรงพยาบาลและบันทึกไว้ในหน่วยความจำของตัวเครื่อง เพื่อให้แพทย์ทำการวิเคราะห์นอกจากนั้นผู้ป่วยสามารถกดสั่งการให้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้เองหากมีอาการ ข้อมูลส่วนนี้จะไม่ถูกลบออกไปเมื่อครบ loop แต่ก็มีความจุที่จำกัดขึ้นกับรุ่นของเครื่อง
Implantable Loop Recorder  เป็นอุปกรณ์บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบฝังไว้ใต้ผิวหนังบริเวณผนังอกด้วยการผ่าตัดเล็กโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ สะดวกสำหรับผู้ป่วยแต่ราคาค่อนข้างสูง สามารถบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบ 1 lead แบบ loop recording ได้นาน 1-3 ปี เครื่องมี AF detection algorithm บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ ปัจจุบันมีการใช้ AI ที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย หรือผู้ป่วยสามารถกดบันทึกแบบ manual ได้เองเมื่อมีอาการ ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้จะถูกส่งแบบ wireless มาที่เครื่องลูกที่บ้านและส่งเข้ามาที่ศูนย์หัวใจ แพทย์จะทำการวิเคราะห์และนัดพบหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น 
Event Recorder เป็นอุปกรณ์บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพา ไม่ได้ติดไว้ตลอดเหมือน Holter หรือ External Loop Recorder แต่นำออกมาใช้เมื่อมีอาการ โดยกดที่หน้าอกประมาณ​ 30 - 60 วินาที ส่วนใหญ่จะบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบ 1 lead เก็บข้อมูลไว้ในตัวเครื่องและนำมาให้แพทย์อ่าน ข้อดีคือสะดวกไม่ต้องติดอุปกรณ์ไว้บนร่างกายตลอดเวลา แต่ข้อด้อยกว่าคือทำให้พลาดช่วง Atrial Fibrillation ที่ไม่มีอาการไป ปัจจุบันมี Event Recorder แบบใช้นิ้วสัมผัสเพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างเช่น AliveCor Kardia Mobile เป็นแบบที่ศูนย์หัวใจโรงพยาบาลเทพธารินทร์ใช้อยู่ 
 
Apple Watch ปัจจุบันได้รับการรับรองการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ Irregular Rhythm Notification ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นที่ถูกพัฒนามาเพื่อตรวจจับโรคหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว หรือ Atrial Fibrillation จากกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ถูกจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ประเภทที่ ๑ โดยต้องเป็น Apple Watch Series 4, 5 และ 6 ใช้ระบบปฏิบัติการ iPhone เป็น iOS 14.4 และ watchOS 7.3 นาฬิกาประพฤติตัวเสมือนเป็น External Loop Recorder เพียงแต่ใช้รูปแบบของจังหวะหัวใจที่ผิดปกติด้วยชีพจรที่ได้จาก PhotoPlethysmoGraphy (PPG) sensor โดยนาฬิกาจะทำงานตลอดเวลาที่ผู้ป่วยสวมใส่ เมื่อมีจังหวะชีพจรที่ไม่สม่ำเสมอ นาฬิกาจะแจ้งเตือนให้ทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยใช้ electrode ที่ฝังใต้เรือนสัมผัสผิวหนังที่ข้อมือ ให้ผู้ใช้เอานิ้วมาแตะกับ electrode ที่ฝังใน digital crown ข้างตัวเรือนโดยเป็นการเชื่อม lead ให้สมบูรณ์ โดยต้องอยู่นิ่งๆเป็นเวลา 30 วินาที หน้าจอโทรศัพท์จะแสดง ECG ของผู้ใช้แบบ real-time และเมื่อครบ 30 วินาที นาฬิกาจะอ่านผลออกมา 3 รูปแบบคือ "sinus rhythm” "atrial fibrillation” หรือ “inconclusive" คลื่นไฟฟ้าหัวใจความยาว 30 วินาทีจะถูกส่งเข้าไปเก็บใน iPhone อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถใช้ Apple Watch ในการวินิจฉัย AF ต้องได้รับการยืนยันการวินิจฉัยโดยแพทย์เท่านั้น เพราะการรักษา Atrial Fibrillation อาจต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดซึ่งมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก


การรักษา Atrial Fibrillation ประกอบด้วย 3 ส่วน (1) การให้ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดอัตราการเกิดอัมพาตหรือหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน ยาละลายลิ่มเลือดมีทั้ง Warfarin และยาละลายลิ่มเลือดกลุ่มใหม่ที่ใช้ในประเทศไทยคือ Dabigatran Rviaroxaban Apixaban และ Edoxaban (2) การให้ยาควบคุมความเร็วหรือควบคุมจังหวะหัวใจเพื่อลดอาการที่เกิดจาก Atrial Fibrillation หากใช้ยาแล้วไม่ได้ผลแพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจ (AF catheter ablation) ด้วยคลื่นวิทยุผ่านสายสวนหรือ cryoballoon ปิดกั้นสัญญาณกระตุ้นที่ชักนำให้เกิดการลัดวงจรจากบริเวณที่หลอดเลือดดำปอดมาต่อกับหัวใจห้องบนซ้าย (3) รักษาโรคร่วมที่ผู้ป่วยมีให้อยู่ในเกณฑ์ดีเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน โรคนอนกรน งดสูบบุหรี่ ควบคุมอาหารและออกกำลังกายในระดับที่ไม่น้อยหรือมากจนเกินไป 

บทความโดย
นพ. วิพัชร พันธวิมล
อายุรแพทย์โรคหัวใจและสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ศูนย์หัวใจโรงพยาบาลเทพธารินทร์
 

บทความที่เกี่ยวข้อง

02-348-7000

Have a question? call us now

@theptarin

Be friend with us

info@Theptarin.com

Need support? Drop us an email