• 3850 ถนนพระราม 4 คลองเตย กรุงเทพ
  • ตลอด 24 ชั่วโมง
  • 02-348-7000

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นเร็ว/เต้นช้าผิดปกติ อันตรายกว่าที่คิด!



 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นช้าผิดปกติ ไม่สม่ำเสมอ เป็นโรคหัวใจที่พบบ่อย แต่มักไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจะแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่มีอาการอะไรเลย หรือมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติเพียงเล็กน้อย เช่น ใจสั่น ใจหวิวๆ เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ถ้ามีอาการมากขึ้น อาจเป็นอันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลวหรือเสียชีวิตแบบฉับพลันได้
 

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คืออะไร?

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia) คือ การที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ อาจเต้นเร็วไป หรือ ช้าไป ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในหัวใจทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ เสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง
 

อัตราการเต้นของหัวใจปกติเป็นอย่างไร?

ในภาวะปกติอัตราการเต้นของหัวใจจะเร็วหรือช้าขึ้นกับกิจกรรมและความต้องการออกซิเจนของร่างกาย เช่น ขณะนอนหลับหัวใจจะเต้นประมาณ 40-60 ครั้ง/นาที ขณะนั่งพักหัวใจจะเต้นประมาณ 60-80 ครั้ง/นาที ในขณะเดินหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นเป็นประมาณ 80-100 ครั้ง/นาที และเร็วขึ้นเป็น 100 ครั้ง/นาที ในขณะวิ่ง
 

หัวใจเต้นผิดปกติเกิดจากสาเหตุใด?

  • หัวใจเต้นช้าผิดปกติ เกิดจากความเสื่อมของศูนย์ควบคุมการเต้นของหัวใจ (SA node) ที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมากระตุ้นหัวใจได้ไม่เพียงพอหรือเกิดจากความเสื่อมของสายไฟฟ้า (AV conducting system) ในหัวใจทำให้ไฟฟ้าที่ออกจาก SA node ไม่สามารถลงไปกระตุ้นหัวใจได้
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มักจะเกิดจากการที่มีจุดกำเนิดไฟฟ้าหรือวงจรไฟฟ้าอื่นนอกเหนือจาก SA node และ AV conducting system ปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมามากเกินไปหรือเกิดการหมุนวนของกระแสไฟฟ้าหรือที่นิยมเรียกกันว่าไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้หัวใจเต้นเร็วเกินไป
     

อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นอย่างไร?

  • ในกรณีที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยจะรู้สึกหัวใจเต้นสะดุด ใจหาย เหนื่อย บางรายอาจมีอาการสะอึก หรือไอตามการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ
  • ในรายที่หัวใจเต้นช้าผิดปกติ จะมีอาการเด่นที่สำคัญคือ อาการที่ร่างกายได้รับเลือดไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ถ้าหัวใจเต้นช้าไม่มากก็จะมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ถ้าเป็นมากขึ้นก็จะมีอาการเหนื่อยในขณะพัก ถ้าเต้นช้าขั้นรุนแรงจะมีอาการหน้ามืด หมดสติหรือถึงขั้นอันตรายจนเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นได้
  • ในรายที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ จะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง เหนื่อยง่ายในผู้ป่วยสูงอายุหรือมีโรคหัวใจอ่อนกำลังอยู่เดิม อาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ เกิดหัวใจล้มเหลว หมดสติหรือถึงขั้นอันตรายจนเสียชีวิตได้
     

จะรู้ได้อย่างไรว่า…หัวใจเต้นผิดจังหวะ?

ขณะเกิดอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ควรตรวจวัดชีพจรดูว่ามีอัตราการเต้นอยู่ที่เท่าไรและมีจังหวะการเต้นสม่ำเสมอหรือไม่ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะบอกได้แต่วิธีที่ดีที่สุด คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ขณะที่มีอาการ ซึ่งนอกจากจะบอกได้ว่าความรู้สึกที่หัวใจเต้นผิดปกตินั้นใช่ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติหรือไม่ ยังสามารถบอกชนิดของหัวใจเต้นผิดปกติได้อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตามภาวะหัวใจเต้นผิดปกติมักเป็นๆ หายๆ ช่วงสั้นๆ เมื่อมาถึงโรงพยาบาลในบางรายก็จะหายเป็นปกติแล้ว บ่อยครั้งเราจึงไม่สามารถตรวจพบได้

  • ในรายที่อาการหัวใจเต้นผิดปกติเกิดบ่อยๆ และเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แพทย์จะสั่งให้ตรวจบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดพกพา ซึ่งเรียกเครื่องนี้ว่า Holter monitoring เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง ไว้กับตัว โดยที่สามารถกลับไปพักที่บ้านหรือทำงานได้ตามปกติ โดยไม่ต้องเสียเวลานอนพักค้างที่โรงพยาบาล
  • ในรายที่อาการหัวใจเต้นผิดปกติเกิดนานๆ ครั้ง และเป็นเวลาไม่นาน อาจไม่สามารถพบได้จากการตรวจ ECG หรือ การใช้เครื่อง Holter monitoring ได้ แพทย์จะสั่งให้ตรวจด้วยเครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดพกพา แบบบันทึกเฉพาะเวลาที่มีอาการ ซึ่งเรียกเครื่องนี้ว่า Event recorder มีขนาดเล็ก จึงสามารถพกพาไว้ในกระเป๋า โดยไม่จำเป็นต้องห้อยติดตัวตลอดเวลา เมื่อใดที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติเกิดขึ้น ผู้ป่วยสามารถนำเครื่องมาวางบริเวณหัวใจ เพื่อให้เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจได้ทันที และนำมาให้แพทย์แปลผล ก็จะสามารถวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
 

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยต้องไม่มีอาการหมดสติขณะเกิดอาการ เพราะเครื่องจะไม่สามารถบันทึกการเต้นของหัวใจด้วยตัวเองได้
 

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีวิธีการรักษาอย่างไร?

การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้ แพทย์จะเลือกรูปแบบการรักษา โดยพิจารณาตามสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และระดับความรุนแรงของโรค เนื่องจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด คนไข้อาจไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่ในบางชนิดจะต้องรับการรักษาให้ทันท่วงที เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ซึ่งแนวทางในการรักษาสามารถทำได้ดังต่อไปนี้<

  • การรักษาด้วยยา ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะช่วยควบคุมหัวใจของผู้ป่วยให้เต้นตามปกติ การใช้ยาจะได้ผลดีกับภาวะหัวใจเต้นบางชนิด จะช่วยลดความถี่ของภาวะนี้ และลดความรุนแรงได้ แต่จะไม่ช่วยให้หายขาด
  • การช็อกหัวใจ (Cardioversion) หรือการใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ จะใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นเร็วเกินไป ซึ่งมีโอกาสเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยแพทย์จะใช้แผ่นแปะบริเวณหน้าอกของผู้ป่วย แล้วส่งกระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งเข้าไปยังหัวใจ เพื่อปรับจังหวะการเต้นหัวใจให้เป็นปกติ
  • การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) เป็นการฝังเครื่องมือตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจ เป็นเครื่องมือที่มีขนาดเล็กฝังไว้ใต้ผิวหนัง ใต้กระดูกไหปลาร้า จากนั้นจึงสอดสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุม และกระตุ้นหัวใจให้เต้นตามปกติ เมื่อตรวจพบว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (Implantable Cardioverter Defibrillator : ICD) วิธีนี้จะช่วยปรับอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นไปตามปกติ นิยมใช้กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเรื่องหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ โดยอุปกรณ์ชนิดนี้จะทำหน้าที่กระตุ้นหัวใจ หากหัวใจเต้นช้าเกินไป และปล่อยพลังงานไฟฟ้าหากหัวใจเต้นเร็ว เพื่อให้จังหวะการเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติ
  • การใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Ablation Therapy) เป็นวิธีการรักษาต่อจากการตรวจระบบนำไฟฟ้าในหัวใจ โดยแพทย์จะสอดสายสวนเข้าไปยังจุดที่คาดว่าเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ แล้วปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูง เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจตรงส่วนที่เป็นสาเหตุ โดยปล่อยเป็นจุดเล็กๆ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะให้หายขาดได้โดยไม่ต้องใช้ยา และยังมีภาวะแทรกซ้อนต่ำอีกด้วย


ป้องกันโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อย่างไร?

ถึงแม้ว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจจะไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง แต่ก็มีวิธีที่จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ให้น้อยลงได้ โดยมีแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อบำรุงหัวใจดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีโปรตีนและโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า รวมไปถึงผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ เพื่อบำรุงหัวใจให้แข็งแรง ให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น
  • ควบคุมอาหาร ลดอาหารที่มีไขมันสูง เพื่อควบคุมความดันโลหิต และช่วยรักษาระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับปกติ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นระบบหมุนเวียนโลหิต ทำให้หัวใจแข็งแรง และช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณคาเฟอีนสูงมากเกินไป เพราะเป็นการกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้น
  • ตรวจสุขภาพและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หากพบความปกติก็จะรักษาได้อย่างทันท่วงที


รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ไหนดี?

ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด iCATH โรงพยาบาลเทพธารินทร์มีความทันสมัยและได้มาตรฐานสูง พร้อมประกอบไปด้วยทีมแพทย์ที่มีความสามารถ รักษาแบบองค์รวม สหสาขาวิชาชีพ เสริมความมั่นใจในการดูแลรักษาสุขภาพหัวใจของคุณได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด iCATH  อาคาร A ชั้น 2
โทร. 095-241-4242 , 02-348-7000 ต่อ 2200, 2210, 2211 
 

ดูข้อมูลศูนย์หัวใจ นัดหมายแพทย์

บทความที่เกี่ยวข้อง

02-348-7000

Have a question? call us now

@theptarin

Be friend with us

info@Theptarin.com

Need support? Drop us an email